วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gases)

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)

               โลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ในรูปของพลังงานแสง พลังงานบางส่วนก็จะสะท้อนกลับออกไปนอกโลก ในสภาพของพลังงานความร้อน และพลังงานความร้อนนี้จะถูกก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีอยู่ในบรรยากาศตามธรรมชาติในปริมาณที่ไม่มากนัก ดูดกลืนเอาไว้บางส่วน พลังงานความร้อนที่ก๊าซเรือนกระจกดูดกลืนเอาไว้นี้จะทำให้โลกมีความอบอุ่น และทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกนี้ได้ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2)  ก๊าซมีเธน (CH4)  ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซโอโซน (O3)  นอกจากนี้ ยังมีก๊าซที่ผลิตขึ้นมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ( Chlorofluorocarbons - CFC) ไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons - HCFCS)  ไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons - HFCS) และเพอร์ฟลูโอริเนตคาร์บอน (Perfluorinatedcarbons - PFCS)
ก๊าซ CFCs 
              
               ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศโดยกระบวนการต่าง ๆ  เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงและการตัดไม้ทำลายป่า แต่ในขณะเดียวกันการเจริญเติบโตของต้นไม้และป่าไม้ก็ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนสภาพให้เป็นมวลชีวภาพ (Biomass) กระบวนการนี้เรียกว่า การสะสมคาร์บอนหรือการกักเก็บ (Carbon Sequestration) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนก๊าซมีเธนเกิดขึ้นจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาพที่ปราศจากออกซิเจน เช่น สภาพน้ำขังในนาข้าว การย่อยอาหารโดยการหมักในกระเพาะอาหาร (Enteric Fermentation) ของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant Animals)  นอกจากนี้ การบำบัดน้ำเสีย การกลบฝังขยะ ตลอดจนพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งการเกิดก๊าซมีเธนได้อีก นอกจากกระบวนการทางธรรมชาติแล้ว การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนยังทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ซึ่งถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศด้วย

             ก๊าซเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ มีอายุ และการแผ่รังสีความร้อน (Radiative Effect) ต่าง ๆ กัน เรียกว่า ศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potentials - GWPs) นิยามของ GWPs คือ ความสามารถของก๊าซเรือนกระจกใด ๆ ในการทำให้เกิดความอบอุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำหนักเท่ากัน เช่นเมื่อพิจารณาในช่วงอายุหนึ่งร้อยปีพบว่า ก๊าซมีเธนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ มีค่า GWPs เท่ากับ 210  และ 310 ตามลำดับ หมายความว่า ก๊าซมีเธนจำนวนหนึ่งตัน มีศักยภาพในการกักเก็บและแผ่รังสีความร้อน เท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 21 ตัน และก๊าซไนตรัสออกไซด์จำนวนหนึ่งตัน มีศักยภาพในการกักเก็บและแผ่รังสีความร้อน เท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 310 ตัน ส่วนก๊าซอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ของมนุษย์ เช่น สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนนั้น มีศักยภาพสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 100 ถึง 1,000 เท่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523-2533 ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเธน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน และไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน ที่ถูกปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศในแต่ละปีปริมาณ 26,000 , 300 , 6 , 0.9 และ 0.1 ล้านตัน ตามลำดับแต่เมื่อพิจารณาตามค่า GWPs แล้วพบว่า สัดส่วนของการทำให้โลกร้อนขึ้นของก๊าซมีเธน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 55 , 15 , 6 และ 4 ตามลำดับ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

        ยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณ พ.ศ. 2293-2343) บรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 270 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึง 356 ppm และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในศตวรรษหน้า เมื่อปริมาณของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ก็จะดูดกลืนและแผ่รังสีความร้อนเอาไว้ในโลกมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ภาวะโลกร้อน (Blobal Warmming) หรือปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effects) นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการผันแปรมากน้อยเพียงใด ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ดังนั้นตาม IPCC (Intergovermental Panel on Climate Change) 1990 และ UNFCC (The United Nations Framework Convention on Climate Change) 1996 ได้ทำนายผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ดังนี้
  • อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียล ภายในปี พ.ศ. 2643 หรือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับปานกลางโดยอยู่ในช่วงระหว่าง 1.5 - 3.5 องศาเซลเซียล
  • การเปลี่ยนอุณหภูมิในระดับภูมิภาคอาจจะแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยของโลกมาก แต่ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างแน่นอนว่าแตกต่างอย่างไร
  • ระดับน้ำทะเล คาดหมายว่าจะสูงขึ้นประมาณ 15 - 95 เซนติเมตร โดยค่าประมาณปานกลางที่ 50 เซนติเมตร ภายในปี พ.ศ. 2643 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าภูมิอากาศและอุณหภูมิโลก จะไม่มีการปลี่ยนแปลงอีกก็ตาม
  • ผลต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกและปริมาณน้ำฝน คือคาดว่าป่าไม้บางส่วน (ประมาณ 1 ใน 3  ถึง  1ใน 7 ของโลก) จะมีการเปลี่ยนแปลงของพรรณไม้ที่สำคัญ
  • ประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้เนื่องมาจากมีข้อกำจัดในการปรับสภาพให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้
การประเมินปริมาณการปล่อยออกและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามชนิดของก๊าซ (Emission by Gas Type)
        ปริมาณการปล่อยออก และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ไม่ควรแสดงในหน่วยของน้ำหนักของก๊าซ เพราะก๊าซแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ และธรรมชาติที่แตกต่างกัน แต่ควรแสดงในรูปของศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนขึ้น (GWPs) ซึ่งเป็นหน่วยมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ดังนั้นรายงานผลการปลดปล่อยออกและการกักเก็๋บก๊าซเรือนกระจก จึงทำได้ในทั้งสองรูปแบบ คือ การรายงานผลโดยมวล (น้ำหนัก) และศักยภาพในการทำให้โลกร้อน

การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามภาคกิจกรรม
       กิจกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุด ได้แก่ พลังงาน การเปลี่ยนการใช้ที่ดินและป่าไม้การเกษตร และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยมีปริมาณการปล่อยออกที่พิจารณาตามศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (GWPs) ดังนี้

  • พลังงาน
            ภาคพลังงานมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากส่วนของกิจกรรมหลัก และกิจกรรมย่อย คือ
            กิจกรรมหลัก 2 อย่าง คือ
            1.  การเผาผลาญพลังงาน ส่วนใหญ่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีก๊าซอื่น ๆ ถูกปล่อยออกมาน้อยได้แก่ มีเธน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอินทรีย์ที่มาจากการเผาพลังงานฟอสซิล
            2.  การระเหยออกมาจากพลังงาน ได้แก่
                -    การผลิตเชื้อเพลิง เช่นถ่านหิน การปลดปล่อยก๊าซมีเธน
                -    การผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา ก๊าซและน้ำมัน การปลดปล่อยก๊าซมีเธน และสารอินทรีย์ที่ไม่ใช่มีเธน
                กิจกรรมย่อยต่าง ๆ คือ
                    1.  การแปรรูปพลังงาน (โรงงานไฟฟ้า)
                    2.  การขนส่ง
                    3.  อุสาหกรรมอื่น ๆ
                    4.  การเผาไหม้ขนาดย่อย
                    5.  การระเหยจากเชื้อเพลิง
ภาพรถยนต์
  •  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้
           การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ทำให้มีการปล่อยออกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ โดยถือว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของมวลชีวภาพในพรรณไม้ในดิน (อินทรีย์วัตถุในดิน) ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ การใช้มวลชีวภาพในการก่อสร้าง การทำเครื่องเรือน การทำกระดาษ การใช้ไม้ฟืน ซึ่งมวลชีวภาพเหล่านี้ ได้มาจากการทำลายป่าธรรมชาติ และการนำไม้จากป่าปลูกไปใช้ หรือการปลูกสร้างสวนป่า สำหรับส่วนของการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นจะเกิดขึ้นจากการปลูกป่าทดแทน และการปล่อยให้ป่าไม้ถูกทำลาย หรือพื้นที่ที่เคยใช้ทำกิจกรรมอื่น ๆ กลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อีก

ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคกิจกรรมต่าง ๆ และสัดส่วนของศักยภาพในการทำให้ร้อนขึ้นในปี พ.ศ. 2533

ภาคกิจกรรม
ปริมาณการปล่อยออกเทียบเท่า
คาร์บอนไดออกไซด์ (ล้านตัน)
สัดส่วนต่อปริมาณก๊าซ
ที่ปลดปล่อยทั้งหมด (ร้อยละ)
1.  พลังงาน
79
36
2.  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้
78
35
3.  การเกษตร
54
24
4. กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม
10
4
5.  ของเสีย
3
1
รวม
225
100

สรุปการเรียงลำดับปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
       จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 8 อันดับ โดยพิจารณาจากศักยภาพในการทำให้โลกร้อน
        1.    การทำลายป่า                         82         ล้านตัน     (33 เปอร์เซนต์)
        2.    การทำนาข้าว                         38         ล้านตัน     (15 เปอร์เซนต์)
        3.    การผลิตไฟฟ้า                        28         ล้านตัน     (11 เปอร์เซนต์)
        4.    การขนส่ง                             28        ล้านตัน     (28 เปอร์เซนต์)
        5.    การใช้มวลชีวภาพจากป่าไม้           20        ล้านตัน     (20 เปอร์เซนต์)
        6.    ปศุสัตว์                               13        ล้านตัน     (5  เปอร์เซนต์)
        7.    อุตสาหกรรมย่อย                      13        ล้านตัน     (5  เปอร์เซ็นต์)
        8.    กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม       8        ล้านตัน     (4  เปอร็เซนต์)
        สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหลือจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมกับ 6.5 เปอร์เซนต์

มาตรการการใช้พลังงานของประเทศไทยเพื่อประหยัดพลังงานและลดก๊าซเรือนกระจก

        ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานมากขึ้นซึ่งพลังงานเหล่านี้ต้องซื้อจากต่างประเทศถึง 65 เปอร์เซนต์ คิดเป็นเงินประมาณ 2 - 3 แสนล้านบาทต่อปี  ซึ่งเท่ากับหรือมากกว่าเงินงบประมาณประจำปีของรัฐบาล ทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลการค้าและดุลการบัญชีเดินสะพัดต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลให้ต้องมีการขยายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ต้องสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ และโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนมากจะต้องกู้ยืมงบประมาณจากต่างประเทศ ทำให้เกิดภาวะหนี้สินของประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาจึงเน้นที่การประหยัดพลังงาน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้มีการประหยัดพลังงานในประเทศ เช่น มาตรการทางด้านกฎหมาย มาตรการทางด้านภาษี มาตรการทางด้านการเงิน และมาตรการด้านการจัดการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

มาตรการทางด้านกฎหมาย
        พ.ร.บ. การอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มีเจตนารมณ์ที่ส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการจูงใจโดย ได้จัดกองทุนพื่อการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ผู้ประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมีบทลงโทษสำหรับอาคารที่ละเลยที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ที่ออกตาม พ.ร.บ. โดยบทบาทของรัฐ คือการสร้าง และการใช้กลไกในการให้การสนับสนุนและส่งเสริมการประหยัดพลังงานของผู้ใช้พลังงาน

มาตรการทางด้านภาษี
        โดยลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือที่ประหยัดพลังงานต่าง ๆ

มาตรการทางด้านการเงิน
       แผนงานอนุรักษ์พลังงานและแนวทางให้การสนับสนุนจากกองทุน
       1.  แผนภาคบังคับ  เป็นแผนงานที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกฎหมาย สำหรับโรงงานและอาคารควบคุมการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในอาคารของรัฐ โรงงานและอาคารทั่วไป ที่มีความประสงค์จะดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน เช่นเดียวกับโรงงาน และอาคารควบคุม โดยผู้ที่ได้รับการสนับสนุน จะต้องเป็นโรงงานหรืออาคารควบคุมและอาคารของรัฐ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ 100 กิโลวัตต์ ขึ้นไป หรือเจ้าของโรงงานและอาคารควบคุมทั่วไป ที่มีความสนใจในการอนุรักษ์พลังงาน
       2.  แผนงานภาคความร่วมมือ  เป็นแผนงานที่เกี่ยวกับให้การสนับสนุน และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตด้านเกษตรกรรม และด้านอุตสากรรมในชนบท ให้มีการนำพลังงานหมุนเวียนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาใช้อย่างแพร่หลาย ให้เกิดตลาดของสินค้าและบริการที่ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งให้มีการนำผลการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีพลังงานและการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในโรงงาน อาคาร และครัวเรือน
        3.  แผนงานสนันสนุน  เป็นแผนงานที่เกี่ยวกับการวางแผน กำกับ ดูแล ประเมินผล การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้แผนงานอนุรักษ์พลังงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรการด้านการจัดการการใช้ไฟฟ้า
        ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 จำนวน 14,506 เมกกะวัตต์ ในขณะที่เดือนธันวาคม 2540 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดมีเพียง 12,876.6 เมกกะวัตต์
        จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตั้งแต่ปี 2540 และคาดหมายว่าจะต่อเนื่องไปอีก 1 - 2 ปี คณะกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2541 ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง พบว่าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ นับเป็นปีแรกในรอบ 114 ปี ตั้งแต่มีการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีการใช้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาและมีระบบผลิตไฟฟ้าภายใน  2 - 3 ปี ข้างหน้า จะมีกำลังผลิตสำรองเกินความต้องการกว่า 25 เปอร์เซนต์
        นอกจากมาตรการการใช้พลังงานอย่างประหยัดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก การจัดหาพลังงานหมุนเวียนด้านต่าง ๆ เพื่อมาใช้ทดแทน ก็เป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดก๊าซรือนกระจก เนื่องจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ประเภทฟอสซิล ได้แก่ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก

การจัดหาพลังงานหมุนเวียนทดแทนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

การพัฒนาพลังน้ำ
       พลังน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ และมีการนำมาใช้มากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ประเทศไทยมีโครงการหลายโครงการที่จะนำพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ประโยชน์ได้แก่
        -    โครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม  เป็นโครงการร่วมไทย - กัมพูชา แม่น้ำสตึงนัม เป็นแม่น้ำในเขตประเทศกัมพูชาไหลจากเหนือลงใต้ ขนานและใกล้กับพรมแดนไทย - กัมพูชา บริเวณจังหวัดตราด มีพื้นที่ลุ่มอยู่ที่ปากแม่น้ำ ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร มีฝนตกชุกมากกว่า 4,000 มิลลิเมตรต่อปี เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ โดยก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสตึงนัม และชักน้ำเข้าเขตโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม จะประกอบด้วยเขื่อน 3 เขื่อน และถ้าโครงการนี้สร้างสำเร็จ ก๊จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 439.3 เมกกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้รวมประมาณ 839 ล้านหน่วยต่อปี
        -    โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง  เป็นโครงร่วมระหว่าง ไทย ลาว พม่า เวียดนาม มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนานำน้ำจากลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคม แก่ประชาชนและประเทศสมาชิกของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแล้วประมาณกันว่า ถ้ามีการจัดสรรที่ดีแล้ว จะสามารถนำมาใช้พื้นที่ชลประทานได้กว่า 37 ล้านไร่
            นอกจากนี้ยังมีโครงการแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างไทย - พม่า อีกด้วย

การพัฒนาชีวมวลเพื่อผลิตกำลังและความร้อน
        พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานจากสารทุกรูปแบบที่ได้จากสิ่งมีชีวิต (ยกเว้นที่ได้กลายเป็นเชื่อเพลิงประเภท ฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติไปแล้ว) ทั้งนี้ รวมถึงการรวมผลิตจากการเกษตรและป่าไม้ ของเสียจากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ และของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร ขยะ และน้ำเสียจากชุมชน สืบเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่จะนำไปสู่ภาวะเรือนกระจก ในขณะที่การใช้ชีวมวลเป็นพลังงานจะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้นมาก และมีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานจากชีวมวลเพิ่มขึ้นโดยสัดส่วนของการใช้ชีวมวลในประเทศอุตสาหกรรมสามารถเห็นได้ชัดเจนจากแนวโน้มการใช้ที่สูงขึ้น

การปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อใช้เป็นพลังงานและในการพาณิชย์อื่น ๆ
        ต้นไม้และป่าไม้ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนสภาพให้เป็นมวลชีวภาพ (Biomass) กระบวนการนี้เรียกว่า การสะสมคาร์บอน หรือการกักเก็บ ซึ่งถือได้ว่า เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อลดการทำลายป่าไม้ที่มีตามธรรมชาติและนำไม้โตเร็วไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อทำยา เพื่อทำฟืนและอื่น ๆ โดยมีการสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม มีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ มีการเพาะขยายกล้า นอกจากการปลูกต้นไม้โตเร็วแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้มีการปลูกต้นไม้ในเมือง เพื่อลดมลพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
รูปกังหันลม
การนำพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาผลิตกระแสไฟฟ้า

      พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยการนำแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า  ซึ่งแนวโน้มลักษณะของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในอนาคตจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ หรือตามบ้านพักอาศัยของประชาชน เป็นโรงไฟฟ้าที่สะอาดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบ้านแสงอาทิตย์ โครงการที่จะได้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยทำการติดตั้งแผงรับเซลล์รับแสงอาทิตย์ไว้ที่หน้าบ้านเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้าส่วนที่ผลิตออกมาเกินความต้องการใช้ภายในบ้านก็จะสามารถขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ และถ้าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไม่พอใช้หรือในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้า เราก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ โดยวิธีคำนวณจากพลังงานไฟฟ้าที่ซื้อผ่านมิเตอร์ซื้อไฟฟ้า หักลบกับพลังงานที่จำหน่ายผ่านมิเตอร์ขายไฟฟ้า
        ส่วนพลังงานลมที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้านั้น ผลการศึกษาพบว่าพลังงานลมในทะเลไทยนั้นยังมีกำลังไม่แรงพอ ถึงจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตกับการใช้ไฟฟ้าโดยวิธีอื่นแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังมีต้นทุนสูงกว่าอยู่มาก
        มาตรการป้องกันและลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางด้านกฎหมาย มาตรการทางด้านภาษี มาตรการทางด้านการเงิน มาตรการทางด้านการจัดการใช้ไฟฟ้า ตลอดจนนโยบายการจัดหาพลังงานหมุนเวียนต่างๆ นั้น บางมาตรการกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ บางมาตรการยังเป็นเพียงโครงการยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นการที่จะให้มาตรการดังกล่าวดำเนินไปและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้นั้น ปัจจัยที่สำคัญ คือ ความร่วมมือร่วมใจ และความตั้งใจของหน่วยงานทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และประชาชน ในการที่จะช่วยกันลดและป้องกันการเกิดก๊าซเรือนกระจก ตามอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกที่ต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2020 นั้นก็คงหมายถึงว่า มาตรการการป้องกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวควรต้องเริ่มและดำเนินการต่อ ... ตั้งแต่วันนี้


ที่มา : รวบรวมจาก นฐปัทม์ จิตพิทักษ์ , วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น